วิกรม กรมดิษฐ์
ออกอากาศทางวิทยุ อสมท.
รายการซีอีโอวิชั่น
10-11 มกราคม 2550
[01]
คนไทยรู้จักตัวตนของเราเองต่ำมาก
กล่าว คือ รู้จักหน้าที่ของตัวเองต่ำมาก โดยเฉพาะหน้าที่ต่อสังคม ต่างกับชาติที่เจริญแล้ว เขาจะมีสำนึกต่อสังคมส่วนรวมสูงมาก
ของเราจะไม่คำนึงถึงส่วนรวม แต่จะเป็นประเภทมือใครยาวสาวได้สาวเอา จนทำให้เกิดวัฒนธรรมสืบทอดกันมายาวนาน โดยเฉพาะผู้ที่มีอำนาจทุกระดับชั้น จนมีคำพูดว่า ธุรกิจการเมือง ธุรกิจราชการ ธุรกิจการศึกษา ทำให้ทุกคนแสวงหาอำนาจเพื่อจะตักตวงเพราะความไม่รู้จักตัวตน ไม่รู้จักประเทศของตัวเองเช่นนี้แล้ว ทำให้ประเทศชาติของเราล้าหลังไปเรื่อย ๆ
[02]
การศึกษาของไทยยังไม่ทันสมัย
สอนให้คนเห็นแก่ตัวมากกว่า ขาดจิตสำนึกต่อสังคม แม้แต่ภาษาคนไทยจะเก่งแต่ภาษาของตัวเอง ทำให้เราขาดโอกาสในการแข่งขันกับต่างชาติในเวทีต่าง ๆ ประเทศอื่น ๆ รู้จักคนไทยน้อยมาก เพราะคนไทยไม่กล้าแสดงออก ขี้อาย ไม่มั่นใจในตัวเอง เราจึงตามหลังชาติอื่น เพราะคุณภาพการศึกษาของเราไม่ทันสมัย จะเห็นว่าคนมีฐานะจะส่งลูกไปเรียนเมืองนอกเพื่อโอกาสที่ดีกว่า
[03]
คนไทยมองอนาคตไม่เป็น
เท่าที่สังเกตเห็นว่าคนไทยกว่า 70% ทำงานแบบไร้อนาคต แบบวันต่อวัน แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปวัน ๆ น้อยนักที่จะวางแผนให้ตัวเองอย่างเป็นระบบ เป็นขั้นเป็นตอน มีเป้าหมายที่ชัดเจนในอนาคต สะสมความสำเร็จไปอย่างเป็นลำดับ หรือเป็นเพราะไม่กล้าฝัน หรือไม่มีความฝันก็ไม่แน่ใจ และชอบพึ่งสิ่งงมงาย โชคชะตา พอใจทำงานแบบตำข้าวสารกรอกหม้อ ทำให้ประสิทธิภาพของเราไม่ทันกับการแข่งขันระดับโลก
[04]
คนไทยไม่ค่อยจะจริงจังในความรับผิดชอบต่อหน้าที่
การรับปากของเรามักทำแบบผักชีโรยหน้า หรือเกรงใจ แต่ทำได้หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง จากประสบการณ์ทำธุรกิจกับชาวต่างชาติจะพบว่า ประเทศที่ประสบความสำเร็จ เช่น ญี่ปุ่น หรือยุโรป คนเขาจะให้ความสำคัญกับสัญญาข้อตกลงอย่างเคร่งครัด เพราะหมายถึงความเชื่อถือในระยะยาว ซึ่งไม่สามารถประเมินเป็นมูลค่าได้ ปัจจุบันคนไทยถูกลดเครดิตในการเชื่อถือด้านนี้ลงไปเรื่อย ๆ
[05]
การกระจายความเจริญยังไม่เต็มที่
ประเทศของเรากระจุกตัวความเจริญเฉพาะในเมืองใหญ่ ประชากรประมาณ 60-70% ที่อยู่ห่างไกล จะขาดโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตัวเองและชุมชน ในต่างประเทศ การสร้างนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ห่างไกล แต่มีองค์ประกอบอื่น ๆ สนับสนุนเขาก็ลงทุน การสร้างเส้นทางคมนาคมเชื่อมต่อระหว่างภูมิภาค จะเป็นประโยชน์ ทำให้เป็นการลดต้นทุนในการดำเนินการทางธุรกิจอย่างมาก ซึ่งเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องส่งเสริม
[06]
การบังคับกฎหมายไม่เข้มแข็งและดำเนินอย่างไม่ต่อเนื่อง
สังคมไทยชอบทำงานแบบลูบหน้าปะจมูก ปราบปรามไม่จริงจัง อาจได้ยินกรณีการดำเนินการตามกฎหมายกับผู้มีอำนาจหรือบริวารก็ตาม จะทำแบบเอาตัวรอดไปก่อน ไม่มีมาตรฐาน ต่างกับประเทศที่เจริญแล้ว ข้อนี้กระบวนการยุติธรรมจะต้องปรับปรุง
[07]
สังคมไทยชอบอิจฉาตาร้อน ไม่ค่อยเป็นสุภาพบุรุษ และชอบเลี่ยงเป็นศรีธนญชัย เมื่อจนตรอก ในวงการเราจะพบกระแสของคนประเภทนี้ปะปนมากขึ้น
จะเพราะเป็นเพราะสังคมเรายอมรับ หรือยกย่องคนที่มีอำนาจ มีเงิน แต่ไม่มีใครรู้ภูมิหลัง โดยเฉพาะคนที่ล้มบนฟูกแล้วไปเกาะผู้มีอำนาจ เอาตัวรอดหน้าตาเฉย คนพวกนี้ร้ายยิ่งกว่าผู้ก่อการร้ายเสียอีก เพราะทำความเสียหายต่อบ้านเมืองมากกว่า และจะเป็นประเภทดีแต่พูด มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ ทำให้คนดีไม่กล้าจะเข้ามาเพราะกลัวเปลืองตัว
[08]
เอ็นจีโอบ้านเราค้านลูกเดียว
ทำให้เราเสียโอกาสในการพัฒนา เพราะเอ็นจีโอบางกลุ่มที่อิงผลประโยชน์อยู่ ถ้าจะพูดกันแบบมีเหตุผล ก็ต้องรับผิดชอบร่วมกัน เอ็นจีโอดี ๆ ก็มี แต่บ้านเรามีน้อย กรณีน้ำท่วมเพราะไม่มีเขื่อนรองรับเพียงพอ พอเกิดน้ำท่วม พวกที่ค้านจะแสดงความรับผิดชอบด้วยหรือเปล่า บ่อยครั้งที่ประเทศเราเสียโอกาสอย่างมหาศาล เพราะการค้านหัวชนฝา เหตุผลจริง ๆ ไม่ได้พูดกัน
[09]
คนไทยอาจจะไม่พร้อมในเวทีโลก
เพราะไม่ถนัดภาษาอื่น ที่ไม่ใช่ภาษาตัวเอง
ทำให้โลกภายนอกไม่รู้จักคนไทยเท่าที่ควร และการจัดการตัวเองอย่างเหมาะสม เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในเวทีการค้าระดับโลก ของเราขาดทักษะและทีมเวิร์คที่ดี ทำให้เราสู้ประเทศเล็ก ๆ อย่างสิงคโปร์ไม่ได้
[10]
คนไทยเลี้ยงลูกไม่เป็น
ปัจจุบันเด็กไทยขาดความอดทน ไม่มีภูมิคุ้มกัน เป็นขี้โรคทางจิตใจ ไม่เข้มแข็ง เพราะเราเลี้ยงลูกแบบไข่ในหิน ไม่สอนให้ลูกช่วยตัวเอง ต่างกับชาติที่เจริญแล้ว เขาจะกระตือรือร้นช่วยตนเอง ขวนขวาย แสวงหา ค้นหาตัวเอง และเขาจะสอนให้สำนึกรับผิดชอบต่อสังคม
คุณวิกรมแสดงความเห็นว่า การอบรมเยาวชนมาจาก 3 ทาง
-หนึ่งภายในครอบครัว
- สองจากโรงเรียน
- และสามจากสังคม หรือสื่อสารมวลชน
ในส่วนนี้พวกเราทุกคนมีส่วนร่วมรับผิดชอบ เพราะถ้าหากสื่อมวลชนทำเพื่อผลประโยชน์ตัวเอง หรือเพื่ออำนาจต่อรองเท่านั้น และสังคมปราศจากสื่อที่จะทำหน้าที่นำเสนอสาระที่เป็นความจริง โดยไม่มอมเมาบิดเบือนแล้ว เมื่อนั้นสังคมจะวิบัติมากยิ่ง ๆขึ้นอีกต่อไป
วิกรม กรมดิษฐ์
ออกอากาศทางวิทยุ อสมท.
รายการซีอีโอวิชั่น
10-11 มกราคม 2550
………………
ประเด็นหลักๆมีที่คุณวิกรมไม่ได้พูดถึง คือ คนไทย มักไม่ค่อยอยากจะยอมรับนัก เมื่อมีคนมาวิจารณ์ตนเอง ถึงแม้จะเป็นคนไทยด้วยกันเอง และบอกล่วงหน้าได้ว่า เมื่อหลายคนอ่านเสร็จแล้ว ก็จะมีคนบางคนคิดว่า
1. “ไม่เกี่ยวกะฉัน ใครมีหน้าที่ก็ทำไปแล้วกัน”
(ประเด็นนี้จบเลยครับ อย่างน้อยให้รู้ไว้ แล้วสักวันถ้ามีโอกาสมาช่วยกันยังดีเสียกว่า ยังพอมีความหวังในการเปลี่ยนแปลงอนาคตของชาติมั่ง)
2. “แล้วคนพูด เขาเป็นใคร วิเศษขนาดไหน ดีมาจากไหน มันก็แค่… ฯลฯ”
(ประเด็นนี้พอคิดมุ่งโจมตี”ผู้พูด”ก่อนว่า ดีนักหรือที่มาวิจารณ์เรา ก็จะเกิดอคติ แล้วก็เลือกที่จะไม่รับข้อมูลเลยก็มี หากจะลองพิจารณาเฉพาะประเด็น ผมเชื่อว่ามันก็มีประเด็นที่น่าสนใจทีเดียว)
3.”ที่บอกมาไม่ใช่ไทยเท่านั้น ชาติอื่นๆ ก็เป็น มันเป็นเรื่องธรรมชาติ”
(บอกปัดไปเลยอีกแล้วผ่าน เลิกคิด ประเด็นที่พูดถึงก็จะถูกละเลย โดยไม่ได้มองถึงวิธีการที่จะมาช่วยกันปรับปรุงให้กับคนรุ่นต่อไปของชาติ)
4. “คิดแบบนี้ เท่ากับดูถูกชนชาติไทยของเราเอง คนไทยหรือเปล่า”
(เปิดประเด็นแบบนี้ ทะเลาะกันไปเลย ไม่ต้องมาคิดเรื่องว่าประเด็นต่างๆนี้ จะต้องปล่อยผ่านไปอีกกี่ปี หรือจะรอให้มันยิ่งสายไป)
อย่างน้อยที่สุดก็ขอฝากประเด็นเหล่านี้ไว้สักวันจะได้มีโอกาสผลักดันให้เกิดอะไรดีดี
ช่วงเวลานี้เราก็ดูแลเยาวชนในครอบครัว ในมือของเราให้อย่าเป็นใน 10 ข้อนี้ ก็จะถือว่าเป็นประโยชน์ครับ
ปัจจุบันเยาวชนเรากำลังขาดภูมิคุ้มกันทางอารมณ์ และตกอยู่ในการครอบงำของสื่อรอบตัวได้ง่าย ขาดความคิดที่เป็นตัวของตัวเอง ถ้าปล่อยแบบนี้ ลูกเราก็เป็นได้แต่ขี้ข้าเขา เพราะไม่รู้จักคิดเอง ไม่เคยทำอะไรนอกกรอบ ไม่เคยทดลองผิดลองถูกและพัฒนาจากความผิดพลาด
เราจำเป็นต้องฝึกให้เขา แพ้เป็น เอาตัวรอดจากความผิดหวัง จากวัตถุนิยมได้ มีวินัย มีเป้าหมายที่ชัดเจนในชีวิต และมีจิตสำนึกของการดำเนินชีวิต
ขอขอบคุณ เจ้าของบทความสุดยอดนี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น